เมนู

[287] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สักกายนิโรธคืออะไร ? คือ
ความดับโดยการสำรอกตัณหานั้นนั่นแหละไม่มีเหลือ การสละ
การสลัดทิ้ง การปล่อยไป การไม่อาลัยใยดี.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราตถาคต
เรียกว่า สักกายนิโรธ.
[288] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา
คืออะไร ? คืออริยมรรคมีองค์ 8 นี้เอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมา-
สังกัปปะ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราตถาคต เรียกว่า-
สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สักกายสูตรที่ 3

อรรถกถาสักกายสูตรที่ 3



แม้สูตรที่ 3 ก็เหมือนกัน คือพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้
ตามอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ผู้จะตรัสรู้ได้ ด้วยคำว่า สกฺกาโย โดย
ทรงประกอบขันธ์ 5 เข้ากับอริยสัจ 4.
จบ อรรถกถาสักกายสูตรที่ 3

4. ปริญเญยยสูตร



ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้



[289] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ การกำหนดรู้ และบุคคลผู้กำหนดรู้ ขอเธอทั้งหลาย
จงตั้งใจฟัง.

[290] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมทั้งหลายที่ควรกำหนดรู้
คืออะไร ? ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือรูป... คือเวทนา...
คือสัญญา... คือสังขาร. ธรรมที่ควรกำหนดรู้คือวิญญาณ. ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเหล่านี้ เราตถาคตเรียกว่า ปริญเญยยธรรม.
[291] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกำหนดรู้คืออะไร ? คือ
ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ.
ภิกษุทั้งหลาย นี้เราตถาคตเรียกว่า ปริญญาธรรม.
[292] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้กำหนดรู้คือใคร ?
บุคคลผู้กำหนดรู้นั้น ควรกล่าวว่า คือพระอรหันต์ ซึ่งได้แก่ท่านผู้มีชื่อ
อย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราตถาคตเรียกว่า
ปริญญาตาวีบุคคล.
จบ ปริญเญยยสูตรที่ 4

อรรถกถาปริญเญยยสูตรที่ 4



พึงทราบวินิจฉัยในปริญเญยยสูตรที่ 4 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปริญฺเญยฺเย ได้แก่ ธรรมทั้งหลาย ที่พึงกำหนดรู้ คือ
พึงก้าวล่วง.
บทว่า ปริญฺญํ ได้แก่ กำหนดรู้ด้วยการก้าวล่วง.
บทว่า ปริญฺญาตาวึ ได้แก่ บุคคลผู้กำหนดรู้แจ้งก้าวล่วงอยู่
ด้วยปริญญานั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงพระนิพพาน ด้วยบทว่า
ราคกฺขโย เป็นต้น.
จบ อรรถกถาปริญเญยยสูตรที่ 4